ประวัติและความเป็นมาของดาวเทียม

ประวัติความเป็นมาของดาวเทียม


 ดาวเทียมเป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยทวนสัญญาณ(Repeater) โดยการรับส่งสัญญาณจากฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่งของพื้นโลก ซึ่งกำเนิดจากแนวความคิดของ เซอร์ อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke) นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ (เกิดวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ด้วยโรคชรา รวมอายุ ๙๐ ปี รวมทั้งแต่งนิยายวิทยาศาสตร์และอวกาศกว่า ๑๐๐ เรื่อง) ในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. ๒๔๘๘) ที่ต้องการเชื่อมโยงระบบการสื่อสารจากครึ่งซีกโลกหนึ่งไปยังอีกครึ่งซีกโลกหนึ่งให้ติดต่อกันได้ด้วยดาวเทียมที่ลอยอยู่เหนือพื้นโลกขึ้นไปประมาณ ๔๒,๒๔๒ กิโลเมตร (Km) จำนวนสามดวง ซึ่งทำมุมกัน ๑๒๐ องศากับแนวแกนโลก  โดยให้โคจรรอบโลกด้วยอัตราความเร็วเท่ากับการหมุนรอบแกนของโลก เพื่อส่งผลให้ดาวเทียมทั้งสามดวงอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมตลอดเวลา เมื่อมองจากพื้นโลก ซึ่งเรียกวงโคจรนี้ว่า วงโคจรค้างฟ้า [๑] จากแนวคิดริเริ่มดังกล่าวทำให้โลกเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมอย่างกว้างขวาง ทั้งการพัฒนาของแต่ละประเทศและความร่วมมือจากหลายประเทศที่ร่วมกันพัฒนา (นานาชาติ) ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

        ๓.๑ ทวีปยุโรป
       เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. 1957) สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศโดยมีชื่อว่าสปุตนิก ๑
(SPUTNIK- I) ดังรูปที่ ๓.๑ มีน้ำหนัก ๘๔ กิโลกรัม(Kg) โคจรรอบโลกในระดับความสูง ๖๐๐ ไมล์ (mile) โดยใช้จรวดนำส่งที่มีชื่อว่าสปุตนิก (Sputnik Rocket) จากสถานีปล่อย ไทยูเรตัม (Tyuratam) ในสาธารณรัฐคาซัคสถาน (Kazakstan) ดาวเทียมสปุตนิกทำหน้าที่ตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟีย (Ionosphere) ซึ่งเป็นบริเวณหนึ่งของชั้นบรรยากาศที่สามารถส่งคลื่นวิทยุไปได้ทั่วโลก ชั้นบรรยากาศนี้มีระยะห่างจากพื้นโลกอยู่ระหว่าง ๕๐ ถึง ๒๕๐ ไมล์ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนถัดมาจากการส่งดาวเทียมสปุตนิก ๑ ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จนั้นในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐
(ค.ศ. 1957) สหภาพโซเวียตก็ได้ส่งดาวเทียมสปุตนิก ๒ (SPUTNIK- II) ตามมา[๒]

                                                 
  รูปที่ ๓.๑ ภาพแสดงตัวอย่างดาวเทียมสปุตนิก
 
       เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. 1965) สหภาพโซเวียตทำการปล่อยดาวเทียมโมย่า ๑ (MOLNYA-1) จากสถานีปล่อยไทยูเรตัมในสาธารณรัฐคาซัคสถานได้เป็นผลสำเร็จ โดยระบบไม่เคลื่อนที่ตามการหมุนของโลก (Non-Geostationary) มีวงโคจรแบบรูปไข่ โคจรครบหนึ่งรอบใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งสามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปยังสถานีรับขนาดเล็กที่อยู่บนพื้นโลกเป็นครั้งแรกในสหภาพโซเวียตภายใต้โครงการดาวเทียมโมย่า (MOLNYA) นี้มีการปล่อยดาวเทียมอีก ๒๙ ดวง ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. 1965 - ค.ศ.1975)

       ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ (ค.ศ. 1971) องค์กรบริการสื่อสารดาวเทียมสากล หรืออินเทอร์สปุตนิก (Intersputnik International Organization of Space Communications:INTERSPUTNIK) ได้ก่อตั้งขึ้นที่ กรุงมอสโค โดยมีสภาพโซเวียตเป็นแกนหลักมีประเทศที่เข้าร่วม ๘ ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ (Poland) เช็กโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia) เยอรมันตะวันออก (East Germany) ในสมัยนั้น ฮังการี (Hungary) โรมาเนีย (Romania) บัลกาเรีย (Bulgaria) มองโกเลีย (Mongolia) และคิวบา (Cuba) ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ การสานต่อและพัฒนาดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร หลังจากนั้นองค์กรบริการสื่อสารดาวเทียมสากลได้ดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๒๕ ประเทศจากลาตินอเมริกา (Latin American) เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ยุโรป (Europe) โดยมีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ ซึ่งลูกค้าขององค์กรบริการสื่อสารดาวเทียมสากล มีทั้งรัฐบาล และบริษัทต่างๆ มากกว่า ๔๐ ประเทศทั่วโลก

       ต่อมาในปีเดียวกันวันที่ ๑๙ ธันวาคม ดาวเทียม ซิมโฟน ๑ (SYMPHONE-1) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ คือประเทศฝรั่งเศส (French) และสหพันธรัฐเยอรมนี (Germany) ซึ่งถูกปล่อยขึ้นจากแหลมคานาเวอรัล (Canaveral) มีวงโคจรแบบค้างฟ้า (Geostationary Orbit) โดยวงโคจรใกล้สุดห่างจากโลก ๓๕,๘๕๔ กิโลเมตร และไกลสุด ๓๕,๘๙๐ กิโลเมตร มีน้ำหนัก ๒๒๑ กิโลกรัม โคจรครบหนึ่งรอบใช้เวลา ๑,๔๔๐.๕ นาที ที่สำคัญเป็นดาวเทียมแรกที่ใช้ระบบสามแกนในการรักษาสมดุล

       วันที่ ๒๖ ตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ (ค.ศ. 1976) สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมเอกเรน (EKRAN) ตัวแรกขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า โดยใช้จรวจโพรตอน (Proton 8k82k) จากสถานีปล่อยไทยูเรตัมในสาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อระบบการสื่อสารแบบกระจายโดยตรง (Direct Broadcasting) ซึ่งนำไปใช้ในการส่งสัญญาณทั้งโทรทัศน์และวิทยุในสหภาพโซเวียตและบริเวณตอนเหนือของไซบีเรีย โดยภายในประกอบไปด้วย เครื่องรับส่งสัญญาณความถี่วิทยุ ในช่วงย่านความถี่สูงยิ่ง (Ultra High Frequency:UHF) และย่านความถี่ซีแบนด์ (C-Band) อีกทั้งตัวเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติ (Transponder) ขนาด ๒๐๐วัตต์ดาวเทียมมีน้ำหนัก ๑,๙๗๐ กิโลกรัม สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์จากดาวเทียมด้วยสายอากาศแบบยากิ (Yaki antenna)

       องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติยุโรป หรือยูเทลแซล (European Telecommunications Satellite Organization: EUTELSAT) ได้ก่อตั้งขึ้นในปีปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. 1977) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปฏิบัติการด้านพื้นฐานการสื่อสารดาวเทียมและเพื่อวางโครงสร้างหรือระบบพื้นฐานสำหรับทวีปยุโรป ซึ่งเริ่มส่งดาวเทียมดวงแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ (ค.ศ. 1983) โดยในช่วงแรกของการก่อตั้งมีความต้องการเพียงให้ครอบคลุมบริเวณยุโรปตะวันตกเพียงเท่านั้น หลังจากนั้นได้พัฒนาด้วยเหตุผลทางการตลาดจนทำให้เป็นศูนย์กลางของยุโรปตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ (ค.ศ. 1989) และตะวันออกกลางแอฟริกา ส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียในเวลาต่อมา

       ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. 1977) ประเทศอิตาลีได้ส่งดาวเทียมซิริโอ (Satellite Italiano di Ricerca Industriale ed Operativa: SIRIO) ขึ้นสู่วงโคจร โดยใช้จรวจเดลต้า ๒๓๑๓ (Delta 2313) จากแหลมคานาเวอรัล การพัฒนาของสถาบันวิจัยดาวเทียมแห่งอิตาลี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓
(ค.ศ. 1970) ดาวเทียมซิริโอมีวัตถุประสงค์เพื่อการทดลองทางด้านการสื่อสารที่ความถี่ ๑๑.๖ กิกะเฮิรตซ์ และ ๑๗.๔ กิกะเฮิรตซ์ ดาวเทียมมีรูปทรงกระบอก ระบบรักษาสมดุลแบบหมุนโดยหมุน ๙๐ รอบต่อนาที เพื่อรักษาสมดุล มีโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานได้ ๑๓๕ วัตต์ แต่เมื่อใช้งานไป ๒ ปีจ่ายได้เพียง ๑๐๐วัตต์ มีสายอากาศแบบกำหนดทิศทางหนึ่งตัว ภายในมีชุดทดลองหลักอยู่สามชุด คือ ชุดการแพร่สัญญาณ ชุดการสื่อสารในความถี่ช่วงแคบ
ชุดการสื่อสารในความถี่ช่วงกว้าง ดาวเทียมซิริโอมีน้ำหนัก ๒๑๗.๗๒๘ กิโลกรัม (Kg) บนวงโคจรเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘๖ เมตร (m) ความสูง ๑.๙๘ เมตร [๓]

       ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ (ค.ศ. 1978) องค์กรอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ (Europe Space Agency: ESA) ได้ทำการปล่อยดาวเทียมโอทีเอส (Orbital Test Satellite: OTS) เป็นผลสำเร็จหลังจากครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ โดยส่งขึ้นไปเมือวันที่ ๑๑ พฤษภาคมโดยใช้จรวดเดลต้า ๓๐๐๐ (Delta 3000)   จากแหลมคานาเวอรัล มีระบบวงโคจรแบบค้างฟ้าด้วยระยะวงโคจรใกล้สุดห่างจากโลก ๓๖,๐๘๕ กิโลเมตรและไกลสุด ๓๖,๑๒๘ กิโลเมตร ดาวเทียมโคจรอยู่เหนือบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Ocean) มีน้ำหนัก ๘๖๕ กิโลกรัม ดาวเทียมมีรูปทรงเป็นหกเหลี่ยม ภายในประกอบไปด้วยเครื่องรับส่งเรดาร์อัตโนมัติใช้งานในย่านความถี่เคยูแบนด์ (Ku-band) ๖ เครื่องและรองรับการใช้ช่องสัญญาณโทรศัพท์ได้ ๗,๒๐๐ ช่องสัญญาณ

       เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ. 1983) ทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติยุโรป ได้ส่งดาวเทียมยูเทลแซท ๑
(EUTELSAT-1) ขึ้นสู่วงโคจรโดยใช้จรวดเอเรียน ๑ (Ariane-1) จากสถานีปล่อยที่เมืองคูรู (Kourou) ประเทศเฟรนช์ เกียนา (French Guiana) (อาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้) เพื่อรองรับการเพิ่มปริมาณการสื่อสารโดยดาวเทียมยูเทลแซท ๑ สามารถให้บริการช่องสัญญาณโทรศัพท์ได้ถึง ๑๒,๐๐๐ ช่องสัญญาณและสามารถรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้ด้วย โดยดาวเทียมยูเทลแซท ๑ นี้ให้บริการเฉพาะในประเทศแถบยุโรปภายในมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติ (Transponder) ระบบวายแบนด์ (Wide Band System) ๙ เครื่องใช้งานที่ความถี่ ๑๔/๑๑ กิกะเฮิรตซ์ และยังใช้เทคนิคความถี่ซ้ำ (Frequency Reuse) ซึ่งทำให้ดาวเทียมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีความจุช่องสัญญาณมากขึ้นด้วย ดาวเทียมยูเทลแซท ๑ มีรัศมีวงโคจรใกล้สุด ๓๖,๑๒๓ กิโลเมตร และไกลสุด ๓๖,๒๔๖ กิโลเมตร มีน้ำหนัก ๑,๐๕๐ กิโลกรัม ดังในรูปที่ ๓.๒

                                                                                    
  รูปที่ ๓.๒ ภาพแสดงลักษณะของดาวเทียมยูเทลแซท
 

       ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. 1984) ดาวเทียมเทเลคอม (Telecom) ได้ถูกปล่อยโดยจรวดเอเรียน ๑/๓ (Ariane-2/3)
 จากสถานีปล่อยที่เมืองคูรู โดยบริษัทฟรานซ์เทเลคอม (France Telecom) และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสมีวัตถุประสงค์ให้บริการทั้งทางด้านพลเรือนและทางทหารภายในประเทศ โดยทั้งหมดมีตัวรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติ ๑๒ เครื่องหลักและอีก ๔ เครื่องสำรอง การให้บริการโทรศัพท์และโทรทัศน์นั้นใช้งานในย่านความถี่ที่ ๖/๔ กิกะเฮิรตซ์ โดยใช้เครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติรองรับ ๔ เครื่อง และเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติในย่านความถี่ ๑๔/๑๒ กิกะเฮิรตซ์ จำนวน ๖ ตัว ส่วนทางกองทัพใช้งานในย่านความถี่ ๘/๗ กิกะเฮิรตซ์ โดยใช้ตัวรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติในย่าน ความถี่เอ็กซ์แบนด์ (X-Band) ๒ เครื่อง ดาวเทียมเทเลคอมออกแบบให้มีอายุการใช้งาน ๗ ปี มีน้ำหนักประมาณ ๗๐๐ กิโลกรัม และสามารถใช้พลังงานได้ ๑,๒๐๐วัตต์ ซึ่งผลิตมาจากแผงโซล่าเซลล์ ๒ แผง และมีระบบวงโคจรแบบค้างฟ้า

       ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. 1992) ทางองค์กรอิสปาแซท(HISPASAT Organization) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑
(ค.ศ. 1989) โดยแกนนำของรัฐบาลสเปนได้ทำการปล่อยดาวเทียมอิสปาแซท ๑ (HISPASAT 1) ขึ้นสู่วงโคจรโดยใช้จรวดเอเรียน ๔ (Ariane-4) จากสถานีปล่อยในเมืองคูรู ดาวเทียมอิสปาแซท ๑ เป็นดาวเทียมการสื่อสารดวงแรกของประเทศสเปน โดยมีหน้าที่รับส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาเครือข่ายระบบการสื่อสารนานาชาติ ซึ่งให้บริการประเทศแถบลาติน อเมริกา จากรัฐนิวยอร์ก (New York) ไปจนถึงกรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ของประเทศอาเจนตินา (Argentina) จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. 1993) ดาวเทียมอิสปาแซท ๑ เริ่มให้บริการในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว โดยมีวงโคจรแบบค้างฟ้า และมีระยะห่างจากผิวโลก ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร [๔]

       ๓.๒ ทวีปอเมริกา
       เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. 1958)สหรัฐอเมริกาได้ส่งดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอ (Explorer) ขึ้นสู่วงโคจรโดยใช้จรวจนำส่งจูปิเตอร์ซี (Jupiter C) จากสถานีปล่อยบริเวณแหลมคานาเวอรัล ดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอเป็น ดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐอเมริกามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖.๕ เซนติเมตร (cm) ความยาวทั้งหมด ๒๐๕ เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ ๑๔ กิโลกรัม ส่วนความถี่ที่ใช้ในการสื่อสารดาวเทียมนั้นใช้งานที่ความถี่ ๑๐๘ เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ดังแสดงในรูปที่ ๓.๓

                                                            
  รูปที่ ๓.๓ ภาพแสดงตัวอย่างดาวเทียมเอ็กซ์พลอเรอ ๑
 
       ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ (ค.ศ. 1958) ดาวเทียมที่ชื่อว่าสกอร์ (Signal Communication by Orbiting Relay Equipment: SCORE) ได้ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรโดยใช้จรวดแอตลาส บี (Atlas B) โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration: NASA) สกอร์เป็นดาวเทียมเพื่อการสื่อสารวิทยุกระจายเสียงจากดาวเทียมลงสู่พื้นโลกเป็นดวงแรก โดยทำการบันทึกเสียงสัญญาณที่เป็นคำกล่าวอวยพรของนายพลไอเซ็นธาวเออร์ (Eisenhower) ประธานาธิบดีคนที่ ๓๔ ของสหรัฐอเมริกาที่ดำรงตำแหน่ง ในช่วงปี ค.ศ. 1953 ถึง ค.ศ. 1961 (พ.ศ. ๒๔๙๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๔) [๒] การส่งสัญญาณนี้เนื่องในเทศกาลวันคริสต์มาสใช้หลักการการส่งสัญญาณวิทยุ (Transponder)    กำลังขยาย ๘ วัตต์(Watt) ในช่วงความถี่ขาขึ้น(Uplink) ๑๕๐ เมกะเฮิรตซ์ จากสถานีภาคพื้นดินขึ้นไปยังดาวเทียมสื่อสารที่ลอยอยู่ในอวกาศ ดาวเทียมทำหน้าที่ในการรับสัญญาณและทวนสัญญาณ เพื่อส่งสัญญาณในช่วงความถี่ขาลง (Downlink) ๑๓๒ เมกะเฮิรตซ์ กลับลงมายังสถานีภาคพื้นดินที่ต้องการ รวมทั้งความถี่ที่ใช้งานในส่วนระบบควบคุมจานสายอากาศอยู่ที่ ๑๐๘ เมกะเฮิรตซ์ ทำหน้าที่ติดตามดาวเทียมและควบคุมจานดาวเทียมให้มีทิศทางตรงกันกับจานดาวเทียมบนพื้นโลกอยู่ตลอดเวลา[๕]

       ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (ค.ศ. 1962) ดาวเทียมเพื่อกิจการการสื่อสารดวงแรกของโลกก็เกิดขึ้นจากผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยเบลล์แลป (Bell Laboratory) ในมลรัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) [๑] ที่มีการลงทุนสร้างโดยบริษัท เอทีแอนด์ที (American Telephone & Telegraph: AT&T ) มีชื่อว่า เทลสตาร์ ๑ (TELSTAR I) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๗.๖ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๗๗ กิโลกรัม ดังในรูปที่ ๓.๔ จากนั้นวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. 1963) ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารดวงที่สองของโลกที่มีชื่อว่าเทลสตาร์ ๒ (TELSTAR II) ก็เกิดขึ้นจากผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยเบลล์แลปเช่นเดียวกันซึ่งดาวเทียมทั้งสองดวงถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโดยองค์กรการบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อการสื่อสารระหว่างสถานีภาคพื้นดินของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน

                                                
  รูปที่ ๓.๔ ภาพแสดงตัวอย่างดาวเทียมเทลสตาร์ ๑
 
       ดาวเทียมเทลสตาร์ ๑ และเทลสตาร์ ๒ มีความกว้างของช่องสัญญาณที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณ (Bandwidth) ๕๐ เมกะเฮิรตซ์ และมีความถี่ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลที่ ๖๓๘๙.๕๘ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาขึ้น และที่ ๔๑๖๙.๗๒ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาลง โดยที่ช่วงความถี่ดังกล่าว (๔/๖ กิกะเฮิรตซ์ (4/6 GHz)) เป็นช่วงความถี่ที่มีสัญญาณรบกวนที่ต่ำ

       ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. ๒๕๐๖) ดาวเทียมชุด ซิงก์คอม ๑ (Synchronous Communication: SYNCOM I) ได้ขึ้นสู่วงโคจรโดยใช้จรวจธอร์เดลต้า(Thor Delta) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล ซึ่งในขณะที่ปล่อยดาวเทียมสู่วงโคจรนั้นได้เกิดความผิดพลาดขึ้น ต่อมาวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. 1963) และ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ (ค.ศ. 1964) จึงได้ส่งซิงก์คอม ๒ (SYNCOM II) และ ซิงก์คอม ๓ (SYNCOM III) ขึ้นสู่วงโคจร ตามลำดับ โดยองค์การนาซา ซึ่งมีความถี่ใช้งานในการรับส่งสัญญาณข้อมูลที่ ๗.๓๖ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาขึ้น และที่ ๑.๘๑๕ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาลง

       วันที่ ๑๒ สิงหาคม ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ (ค.ศ. 1969) องค์การนาซาได้ปล่อยดาวเทียมเอทีเอส ๕ (Application Techrology Satellite 5: ATS-5) โดยจรวจแอตลาส เซนทอร์ (Atlas Centaur) เพื่อทำการทดลองใช้สัญญาณช่วงความถี่แอลแบนด์ (L-band) สำหรับหาตำแหน่งของเรือในมหาสมุทร ทำการทดลองเรื่องผลกระทบของการลดทอนในการส่งสัญญาณความถี่คลื่นวิทยุที่มีผลมาจากฝนและการสื่อสารในช่วงความถี่ซีแบนด์ (C-band) ดาวเทียมเอทีเอส ๕ แพร่กระจายในความถี่ ๑๕.๓ กิกะเฮิรตซ์ และ ๓.๖ กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งมีอายุการใช้งาน ๓ ปี น้ำหนักประมาณ ๘๒๑ กิโลกรัม ความยาวประมาณ ๑.๘๐ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑.๔ เมตร โดยระยะวงโคจรใกล้สุด ๓๕,๙๙๒ กิโลเมตรและวงโคจรไกลสุด ๓๖,๐๒๔ กิโลเมตรและเป็นครั้งแรกของดาวเทียมในระบบวงโคจรค้างฟ้าคือวงโคจรที่มีคาบการหมุนรอบโลกเท่าๆ กับการหมุนรอบตัวเองของโลก

       ต่อมาวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. 1972) ประเทศแคนาดา (Canada)โดยบริษัทเทเลแซท แคนาดา (Telesat Canada) ได้ทำการปล่อยดาวเทียมดวงแรกที่มีชื่อว่า ดาวเทียมอะนิก เอ (Anik A) ขึ้นสู่วงโคจร โดยจรวจเดลต้า ๑๙๑๔ (Delta 1914) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล โดยดาวเทียมมีหน้าที่ให้บริการการสื่อสารสัญญาณโทรทัศน์ภายในประเทศ มีระบบวงโคจรแบบค้างฟ้า รูปทรงกระบอกมีความสูง ๓.๔๑ เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๙ เมตร มีน้ำหนัก ๒๙๗ กิโลกรัมเมื่ออยู่บนวงโคจร ภายในมีทรานสปอนเดอร์ (Transponder) หรือเครื่องรับส่งเรดาร์แบบอัตโนมัติและรวดเร็วที่ใช้งานในย่านความถี่ซีถึง ๑๒ ตัวและสามารถให้บริการได้ ๗,๐๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์หรือ ๑๒ ช่องสัญญาณโทรทัศน์สี ใช้พลังงาน ๒๕๐วัตต์ โดยออกแบบให้ใช้งานได้ ๗ ปี

       ดาวเทียมเวสทาร์ (Westar Satellite) เป็นดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพาณิชย์ ของประเทศสหรัฐอเมริกาดวงแรกและเป็นระบบการโคจรแบบค้างฟ้า ดาวเทียมเวสทาร์ ๑ (Westar 1) ได้ถูกปล่อยขึ้นโดยความร่วมมือของสององค์กรคือเวสเทิร์น ยูเนี่ยน (Western union) และนาซา ซึ่งผลิตโดยบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์ (Hughes Aircraft Company) เป็นชนิดเอชเอส ๓๓๓ (HS-333) ภายในบรรจุเครื่องรับส่งเรดาร์แบบอัตโนมัติและรวดเร็วถึง ๑๒ เครื่อง ดาวเทียมมีน้ำหนัก ๕๐๐ กิโลกรัมบนพื้นโลก เวสเทิร์นยูเนี่ยนใช้งานดาวเทียมเวสทาร์ ๑ เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ เช่นการส่งโทรเลขและสำนักงานไปรษณีย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังใช้ในการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุด้วย โดยดาวเทียมเวสทาร์วันถูกปล่อยเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน
พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. 1974) โดยใช้จรวดเดลต้า ๒๙๑๔ (Delta 2914) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล และเลิกใช้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ.1983)

       ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ (ค.ศ. 1976) บริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์ ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทคอมแซท ได้สร้างดาวเทียมสามดวงเพื่อในการติดต่อสื่อสารทางทะเล มีระบบแบบหลายคลื่นความถี่ (Multi frequency) เรียกว่า ดาวเทียมมาริแซท (MARISAT) เพื่อการสื่อสารทางทะเลโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก       โดยทั้งสามดวงถูกปล่อยในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ดวงแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ดวงที่สองเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน และดวงสุดท้ายปล่อยเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคมโดยใช้จรวดเดลต้าดาวเทียมมีวงโคจรแบบค้างฟ้า ใช้งานสามย่านความถี่คือ ย่านความถี่สูงยิ่ง (Ultrahigh frequency: UHF) ๒๔๐ ถึง ๔๐๐ เมกกะเฮิรตซ์ โดยกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาเพื่อเชื่อมต่อระหว่างบริเวณชายฝั่งบนเรือและดาวเทียม ย่านความถี่ที่สองคือความถี่แอลแบนด์ ๑.๕ ถึง ๑.๖ กิกะเฮิรตซ์ ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารเชิงพาณิชย์เป็นสื่อสารระหว่างเรือเดินสมุทรกับดาวเทียม และย่านสุดท้ายคือความถี่ซีแบนด์ ๔ ถึง ๖ กิกะเฮิรตซ์ใช้เพื่อการสื่อสารเชิงพาณิชย์เช่นกันแต่ใช้เชื่อมต่อระหว่างดาวเทียมกับสถานีรับบนพื้นโลก ดาวเทียมมาริแซทมีน้ำหนัก ๓๐๐ กิโลกรัมบนวงโคจร    ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๑๕ เมตร และความสูง ๓.๘๑ เมตร [๖]
       ๓.๓ ทวีปเอเชีย
       เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ (พ.ศ. 1976) ประเทศอินโดนีเซียเริ่มมีดาวเทียมปาลาปา ๑ (PALAPA-1) ใช้งาน เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในประเทศและภายในภูมิภาคใกล้เคียง ดาวเทียมปาลาปา ๑มีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนดาวเทียมของบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์รุ่นเอชเอส ๓๓๓ มีน้ำหนัก ๓๐๐ กิโลกรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ เมตรซึ่งทำการรับส่งสัญญาณได้ถึง ๑๒๕ สถานีบนพื้นโลก วงโคจรใกล้สุดห่างจากโลก ๓๕,๘๑๘ กิโลเมตร และไกลสุด ๓๕,๘๕๒ กิโลเมตรการโคจรเป็นแบบค้างฟ้า โดยโคจรอยู่เหนือบริเวณมหาสมุทรอินเดียภายในมีเครื่องรับส่งเรดาร์อัตโนมัติจำนวน ๑๒ เครื่อง ซึ่งสามารถรองรับการใช้งาน ๔,๐๐๐ ช่องสัญญาณเสียงหรือ ๒ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ ซึ่งใช้งานครอบคลุม มากกว่า ๖,๐๐๐ เกาะทั่วประเทศอินโดนีเซีย

       เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ (ค.ศ. 1978) ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งดาวเทียมบีเอสอี (Broadcasting Satellite for Experimental: BSE) หรือเรียกอีกชื่อว่า ยูริ (Yuri) ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. 1974) มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองระบบการสื่อสารดาวเทียมแบบกระจายสัญญาณภาพ (Broadcast)  และริเริ่มเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมของประเทศ

       ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ (ค.ศ. 1983) ทางองค์การพัฒนาอวกาศของญี่ปุ่น หรือนาสด้า (National Space Development Agency of Japan: NASDA) ได้ส่งดาวเทียมซีเอส ๒ (CS-2) ขึ้นสู่วงโคจรที่แท่นปล่อยริมชายฝั่งทาเนกาชิมา (Tanegashima) ซึ่งดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของญี่ปุ่นนี้ให้บริการด้านการสื่อสารและการตรวจดูภัยธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างเกาะต่างๆ ด้วย โดยใช้คลื่นความถี่ในย่าน     ๒๐/๓๐ กิกะเฮิรตซ์ มีวงโคจรแบบค้างฟ้า วงโคจรใกล้สุด ๓๕,๙๙๔ กิโลเมตรและไกลสุด ๓๖,๐๗๐ กิโลเมตร มีน้ำหนัก ๗๒๒ กิโลกรัม

       ๓.๔ นานาชาติ
       ดาวเทียมโทรคมนาคมเพื่อการพาณิชย์ดวงแรกได้ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. 1965) จากการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทคอมแซท (Communications Satellite Corporation: Comsat) ภายใต้ชื่อว่าอินเทลแซท ๑ (INTELSAT I) หรือเออลีเบิร์ด (EARLY BIRD)    โดยจรวจเดลต้าดี (Delta-D) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา และในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘
(ค.ศ. 1965) ซึ่งเป็นวันเกิดของการใช้ดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ดวงแรก โดยที่สหรัฐอเมริกาได้เริ่มติดต่อสื่อสารเพื่อการพาณิชย์กับประเทศแถบทวีปยุโรป โดยความกว้างของช่องสัญญาณที่ใช้ในการรับส่งสัญญาณ ๒๕ เมกะเฮิรตซ์และมีความถี่ขาขึ้นที่ ๖,๓๙๐ เมกะเฮิรตซ์และ ๖,๓๐๑ เมกะเฮิรตซ์ และความถี่ขาลงที่ ๔,๐๘๑ เมกะเฮิรตซ์ และ ๔,๑๖๑ เมกะเฮิรตซ์ สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป ตามลำดับ [๑]

       ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. 1966) องค์การโทรคมนาคมทางดาวเทียมระหว่างประเทศ หรืออินเทลแซท (International Telecommunication Satellite Organization: INTELSAT) ได้ทำการปล่อยดาวเทียมอินเทลแซท ๒ เอ (INTELSAT II-A) ที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์ขึ้นสู่ วงโคจรในวันที่ ๒๖ ตุลาคม โดยใช้จรวดเอเรียน ๔๔ แอล (Ariane 44L) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล และจัดวางไว้ที่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก               แต่ไม่สามารถใช้งานได้เนื่องมาจากเกิดข้อผิดพลาดในการส่งเข้าระบบวงโคจร เมื่อเครื่องยนต์ส่งกำลังสูงสุดทำงานได้เพียง ๔ วินาทีภายหลังการจุดระเบิด (โดยปกติเครื่องยนต์ต้องทำงานอย่างน้อย ๑๖ วินาทีขึ้นไป) หลังจากนั้นจึงทำการส่งดาวเทียมอินเทลแซท ๒ บี (INTELSAT II-B) อินเทลแซท ๒ ซี (INTELSAT II-C) และ อินเทลแซท ๒ ดี (INTELSAT II-D) โดยสามารถใช้งานได้ ๒ ปี ๒ ปี ๖ เดือนและ ๓ ปี ๖ เดือน ตามลำดับ ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมที่เข้าใช้งานได้ในหลายสถานีพร้อมๆ กัน (Multiple Access Satellite System) ระบบนี้ให้การบริการช่องสัญญาณโทรศัพท์ ๒๔๐ ช่องหรือ ๑ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ เป็นดาวเทียมที่มีความสูง ๐.๖๗ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๔๒ เมตร น้ำหนักเมื่ออยู่บนวงโคจร ๗๖ กิโลกรัม มีแบนด์วิดธ์ ๕๐    เมกกะเฮิรตซ์

       วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑ (ค.ศ. 1968) บริษัทอินเทลแซทได้ทำการปล่อยดาวเทียมอินเทลแซท ๓ เอฟ ๑ (INTELSAT III (F-1)) แต่เกิดปัญหาในระบบการควบคุมจึงถูกทำลายโดยระบบความปลอดภัย (Rang Safety) ต่อมาในวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ทำการส่งดาวเทียม            อินเทลแซท ๓ เอฟ ๒ (INTELSAT III(F-2)) โดยใช้จรวดเดลต้าเอ็ม (Delta-M) จากสถานีปล่อยแหลมคานาเวอรัล ไปอยู่เหนือบริเวณประเทศบราซิล  ต่อมาได้ปล่อยดาวเทียม อินเทลแซท ๓ เอฟ ๓ (INTELSAT III(F-3)) ขึ้นไปเหนือบริเวณมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ โครงการของอินเทลแซท ๓ (INTELSAT III) นี้มีการพัฒนาและปล่อยดาวเทียมมาอย่างต่อเนื่อง และได้ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นับว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั่วโลกอย่างแท้จริง รวมทั้งมีจุดเด่นอีกประการหนึ่งโดยดาวเทียมอินเทลแซท ๓ นี้มีสายอากาศรับส่งข้อมูลแบบมีทิศทาง ดังนั้นเวลาที่ดาวเทียมโคจรอยู่ฐานของสายอากาศต้องมีทิศทางตรงกันข้ามกับตัวดาวเทียมเพื่อที่จะให้สายอากาศหันในทิศทางตรงกับโลกเสมอ ตัวดาวเทียมระบบนี้มีรูปทรงกระบอก   มีความสูง ๑.๐๔ เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว ๑.๔๒ เมตรและสามารถรองรับช่องทางการสื่อสารได้ ๑,๕๐๐ ช่องโทรศัพท์หรือ ๔ ช่องสัญญาณโทรทัศน์

       ดาวเทียมอินเทลแซท ๔ (INTEALSAT IV) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเติบโตในธุรกิจการสื่อสารที่ขยายตัวอย่างสูง เพื่อรองรับการใช้บริการอย่างกว้างขวาง โดยเป็นดาวเทียมรุ่นที่ห้าที่ใช้ระบบค้างฟ้าที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์ ดาวเทียมอินเทลแซท ๔ ได้ถูกวางแผนไว้ให้บริการสำหรับ ๑๐๙ ประเทศในเวลานั้น ซึ่งเป็นโครงการที่ทางบริษัทผู้ผลิตได้รับความร่วมมือจาก ๑๐ บริษัทของทวีปยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น เพื่อสร้างดาวเทียมนี้ขึ้นมา โดยมีน้ำหนัก ๕๙๕ กิโลกรัมบนวงโคจร รูปทรงกระบอกความสูง ๕.๓๑ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๓๘ เมตร อุปกรณ์ด้านข้างของตัวดาวเทียมติดโซ่ลาเซลล์เพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถให้บริการกว่า ๔,๐๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์หรือ ๒ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ ซึ่งถูกปล่อยเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๔ (ค.ศ. 1971)โดยใช้จรวจนำส่งที่มีชื่อว่าแอตลาส เซนทอร์

       ต่อมาในวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. 1975) องค์กรนาซาได้ปล่อยดาวเทียมอินเทลแซท ๔ เอ (INTELSAT IV-A) โดยใช้จรวดแอตลาส เซนทอร์ จากแหลม คานาเวอรัล ดาวเทียมผลิตโดยบริษัทฮิวจ์สเปชแอนด์ คอมมิวนิเคชัน (Hughes Space and Communications Company)            ซึ่งดาวเทียมอินเทลแซท ๔ เอ ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการให้บริการการสื่อสารเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและปัญหาความแออัดของช่องสัญญาณ ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับดาวเทียมอินเทลแซท ๔ แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือการพัฒนาเทคโนโลยีของสายอากาศ ซึ่งมีการเพิ่มความสามารถในการรับส่งของสายอากาศเป็นสองเท่าจากของเดิม มีน้ำหนัก ๕๙๕ กิโลกรัมบนวงโคจร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๓๘ เมตร มีความสูง ๕.๓๑ เมตร ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ๑๗,๐๐๐ เซลล์ผลิตพลังงานได้ ๖๐๐วัตต์ มีเครื่องรับส่งเรดาร์แบบอัตโนมัติถึง ๒๐ เครื่อง ซึ่งสามารถให้บริการโทรศัพท์ได้มากกว่า ๖,๐๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์หรือ ๒ ช่องสัญญาณโทรทัศน์

       องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ หรือ อินมาแซท (International Maritime Satellite Organization: INMARSAT) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. 1979)โดยมีประเทศลงนามในเบื้องต้น ๒๖ ประเทศ อันเนื่องมาจากคำร้องขอขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มโอ (International Maritime Organization: IMO) ต้องการองค์กรที่คอยควบคุมดูแลการสื่อสารทางการเดินเรือในระดับสากล เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารทางทะเลและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน ในช่วงเริ่มก่อตั้งองค์กรใช้ชื่อย่ออินมาแซท (INMARSAT) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอสโอ (International Mobile Satellite Organization: IMSO) เพื่อให้บริการกับการสื่อสารเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม และเครื่องมือสื่อสารแบบพกพาติดตัว(Portable communication device) โดยมีดาวเทียมโคจรอยู่ ๔ ดวงด้วยกันคือ เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออกและตะวันตก [๗]

       ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ (ค.ศ. 1980) เนื่องจากปริมาณการใช้บริการที่เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีการพัฒนาและปล่อยดาวเทียมอินเทลแซท ๕ (INTELSAT V) ขึ้นเพื่อรองรับการให้บริการเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคมโดยใช้จรวดนำส่งที่ชื่อว่าแอตลาส เซนทอร์อจากแหลมคานาเวอรัล ซึ่งสามารถให้บริการช่องสัญญาณโทรศัพท์ได้ ๑๒,๐๐๐ ช่องสัญญาณ และให้บริการช่องสัญญาณโทรทัศน์ได้ ๒ ช่องสัญญาณ โดยใช้ย่านความถี่ ๖/๔ กิกะเฮิรตซ์และย่านความถี่ ๑๔/๑๑ กิกะเฮิรตซ์ ภายในดาวเทียมมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติ ในย่านความถี่ซี ๒๑ เครื่อง และในย่านความถี่เคยูแบนด์ ๔ เครื่องมีแผงโซล่าเซลล์ ๒ แผงผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ๑,๘๐๐วัตต์รูปทรงตัวดาวเทียมเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด ๑.๗ x ๑.๘x ๒ เมตรใช้ระบบล้อหมุนสามล้อในการรักษาสมดุล มีอายุการใช้งาน ๗ ปี

       วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ (ค.ศ. 1989) ทางด้านองค์การอินเทลแซทได้ส่งดาวเทียมอินเทลแซท ๖ (INTELSAT VI) ขึ้นสู่วงโคจร โดยใช้จรวดเอเรียนโฟร์ จากสถานีปล่อยที่เมืองคูรู ประเทศเฟรนช์ กิอานา (French Guiana) ผลิตโดยบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟต์ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ทั้งทางด้านน้ำหนักและ ศักยภาพของการให้บริการการสื่อสาร โดยสามารถให้บริการการสื่อสารได้ ๑๒๐,๐๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์หรือเทียบเท่ากับ ๓ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ โดยมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์อัตโนมัติที่ใช้งานในย่านความถี่ซีแบนด์ ๓๘ เครื่อง ๑๒ เครื่องสำรอง และใช้งานในย่านความถี่เคยูแบนด์ ๑๐ เครื่องหลักและอีก ๔ เครื่องสำรอง การให้บริการของดาวเทียมได้นำเทคโนโลยีการแบ่งใช้หรือการเข้าถึงหลายทางแบบแบ่งด้วยเวลา/ทีดีเอ็มเอ (Time Division Multiple Access: TDMA) มาใช้ด้วย ดาวเทียมมีรูปทรงกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๖ เมตร ความสูง ๑๑.๗ เมตรและมีน้ำหนัก ๑,๙๑๐ กิโลกรัม

       ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ (ค.ศ. 1993) องค์กรอินเทลแซลได้ส่งดาวเทียมอินเทลแซท ๗ ( INTELSAT VII) ขึ้นสู่วงโคจรในวันที่ ๒๒ ตุลาคมโดยใช้จรวดเอเรียน ๔๔ แอลพี (Ariane 44-LP) จากสถานีปล่อยในเมืองคูรู นับเป็นการเริ่มต้นโครงการดาวเทียมอินเทลแซล ๗ และอินเทลแซล ๗ เอ (INTELSAT VII/VII-A) และโครงการได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. 1995) โดยได้ทำการปล่อยดาวเทียมไปทั้งหมด ๘ ดวง แต่ส่งได้สำเร็จ ๗ ดวง ให้บริการเหนือเขตมหาสมุทรแอตแลนติก ๔ ดวง มหาสมุทรอินเดีย ๑ ดวง มหาสมุทรแปซิฟิก ๒ ดวง โดยดาวเทียมอินเทลแซท ๗ สามารถให้บริการ ๑๘,๐๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์ และ ๓ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ในเวลาเดียวกัน โดยมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ที่ใช้งานในย่านความถี่ซีแบนด์ ๒๖ เครื่องและในย่านความถี่เคยูแบนด์ ๑๐ เครื่อง ส่วนของดาวเทียมอินเทลแซท ๗ เอ สามารถให้บริการได้ ๒๒,๕๐๐ ช่องสัญญาณโทรศัพท์ และ ๓ ช่องสัญญาณโทรทัศน์ในเวลาเดียวกันมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์หรือทรานสปอร์เดอร์เหมือนกับดาวเทียมอินเทลแซท ๗ แต่เพิ่มเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ที่ใช้งานในย่านความถี่เคยูแบนด์อีก ๔ เครื่อง

       เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ องค์การอินเทลแซทได้ทำการปล่อยดาวเทียมสื่อสารอินเทลแซท ๘ (INTELSAT VIII) ขึ้นให้บริการในบริเวณเหนือมหาสมุทร แอตแลนติก โดยใช้จรวดนำส่งเอเรียน ๔๔ พีเอช ๑๐-๓ (Ariane-44P H10-3) จากสถานีปล่อยในเมืองคูรู เพื่อพัฒนาให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้นในการสื่อสารที่ย่านความถี่ซีแบนด์โดยใช้เทคนิคความถี่ซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ความจุช่องสัญญาณเพิ่มมากขึ้นโดยให้บริการช่องสัญญาณโทรศัพท์ได้ถึง ๒๒,๕๐๐ช่องสัญญาณและพร้อมกับช่องสัญญาณโทรทัศน์อีก ๓ ช่องสัญญาณหรือสามารถใช้งานได้ถึง ๑๑๒,๕๐๐ช่องสัญญาณโทรศัพท์ ภายในมีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ที่ใช้งานในย่านความถี่ซีแบนด์ ๓๘ เครื่อง และใช้งานในย่านความถี่เคยูแบนด์อีก ๖ เครื่อง มีน้ำหนัก ๓,๒๔๕ กิโลกรัม ออกแบบให้ใช้งานได้ ๑๔ ถึง ๑๗ ปี โดยมีวงโคจรแบบค้างฟ้า

       ต่อมาองค์การอินเทลแซทได้ร่วมกับบริษัทอัลคาเทลเทเลคอม (Alcatel Telecom) ของประเทศฝรั่งเศส บริษัทอลิเนีย(Alenia) ของประเทศอิตาลี บริษัทเดมเล่อร์- เบ๊นซ์ แอโรสเปซ (Daimler-Benz Aerospace: DASA) ของประเทศเยอรมัน และบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Electric Corporation: MEC) ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาดาวเทียมอินเทลแซท ๙ (INTELSAT IX) ให้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลมากขึ้นกว่าดาวเทียม อินเทลแซทรุ่นเดิม โดยให้บริการเหนือมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อให้บริการสัญญาณโทรทัศน์ บริการรับส่งข้อมูล บริการอินเทอร์เน็ต โดยภายในดาวเทียมประกอบไปด้วยเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ที่ใช้งานความถี่ย่านซีแบนด์ ๔๔ เครื่องและย่านความถี่ เคยูแบนด์ ๑๒ เครื่อง มีน้ำหนัก ๔๗๒๕ กิโลกรัม มีวงโคจรแบบค้างฟ้า ผลิตโดยบริษัทสเปซ ซิสเต็มส์ ลอเรล (Space Systems Loral: SSL) มีอายุการใช้งาน ๑๓ ปี ถูกส่งขึ้นวงโคจรเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. 2000) โดยใช้จรวดนำส่งที่มีชื่อว่าเอเรียน ๔๔ พีเอช ๑๐-๓ จากสถานีปล่อยในเมืองคูรู [๖] ดังในรูปที่ ๓.๕

                                                            
  รูปที่ ๓.๕ ภาพแสดงตัวอย่างดาวเทียมอินเทลแซท
 
 สำหรับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ การติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมเกิดขึ้นครั้งแรกกับดาวเทียมอินเทลแซท ๒ เอฟ๒(INTELSAT II-F2) ที่อยู่ในวงโคจรครอบคลุมพื้นที่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกกับสหรัฐอเมริกาทางด้านฮาวาย โดยใช้สถานีเคลื่อนที่ของบริษัทอาร์ซีเอ (RCA) ในการรับสัญญาณจากดาวเทียม และในเวลาต่อมา กรมไปรษณีย์โทรเลข (สมัยนั้น) ได้ลงนามสัญญาจ้าง การสร้างสถานีคมนาคมภาคพื้นดินผ่านดาวเทียมกับบริษัทโทรศัพท์สาธารณะและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (General Telephone and Electronic International Incorporated) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ บนพื้นที่กว่า ๘๐๐ ไร่ ณ เขตตำบลทุ่งศุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี [๘]

       ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมไปรษณีย์โทรเลขลงนามบันทึกสัญญาเช่าสัญญาณดาวเทียม ปาลาปา เอ๒ (PALAPA A2) เพื่อใช้ในด้านการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งดาวเทียมปาลาปา เอ๒ ได้ขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยประเทศอินโดนีเซีย ความถี่ที่ใช้ในการรับส่ง
ข้อมูลอยู่ที่ ๖ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาขึ้น และ ๔ กิกะเฮิรตซ์ สำหรับความถี่ขาลง และเครื่องรับส่งสัญญาณวิทยุจำนวน ๑๒ ช่อง เพื่อแปลงความถี่ขยายสัญญาณ และส่งสัญญาณกลับลงมายังสถานีภาคพื้นดิน [๘]

       จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ จำกัด (Hughes Aircrafts) ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดสร้างดาวเทียมไทยคม (Thai Telecommunication: Thaicom) ขึ้นสู่วงโคจรโดยจรวดแอเรียน ๔ ของบริษัท แอเรียนสเปซ จำกัด (Ariane Space) ประเทศฝรั่งเศส

       ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทเซ้าท์อิส เอเชียอิริเดียม จำกัด (South East Asia Iridium: SEAI) จัดตั้งสถานีภาคพื้นดินในประเทศไทย เพื่อการบริการพื้นฐานการสื่อสารทางด้านบริการโทรศัพท์ บริการวิทยุคมนาคมติดตามตัว บริการโทรสาร และบริการส่งสารข้อมูลไร้สาย เป็นต้น [๙]

       และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการก่อตั้งโครงการดาวเทียมแทมแซท (Thai Micro–SATellite: TMSAT) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (Surrey University) ประเทศอังกฤษ โดยภาคเอกชนไทยประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี มหานครและบริษัทยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชัน จำกัด (United Communication company limited: UCOM) ใช้เวลาในการออกและสร้างตัวดาวเทียมประมาณ ๑ ปี การใช้งานของดาวเทียมแทมแซทโดยทั่วไปใช้สำหรับการตรวจสอบสภาพภูมิอากาศและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ โดยดาวเทียม แทมแซทถูกส่งขึ้นสู่วง
โคจรเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชมหาราชพระราชทานชื่อดาวเทียมว่า “ ไทยพัฒ” และในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสในการสร้างดาวเทียมสำรวจระยะไกลเพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย มีชื่อเรียกว่า ดาวเทียมธีออส (Thailand Earth Observation Satellite: THEOS) [๑๐]

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น